คุณกำลังมีพฤติกรรม “ขาดสติ” อยู่รึเปล่า?
“เนื้อหาของบทความนี้บางส่วนสรุปมาจากหนังสือ Misbehaving: เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม — Richard H. Thaler”
- ซื้อหนังสือล่วงหน้า เพื่อให้อ่านเล่มปัจจุบันให้รีบจบ?
- กินเลย์ซองใหญ่ที่เหลืออยู่ให้หมดแม้ว่าตัวเองจะอิ่มมากแล้ว?
- คิดว่าการลงทุนในหุ้น/cryptocurrency เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่สามารถซื้อสลากกินแบ่งได้อย่างสบายใจ?
- แม้คุณจะลงทุนในสินทรัพย์แล้วเตรียมแผน cut loss อย่างดี แต่พอถึงเวลาจริงกลับทนทำตามแผนไม่ได้จึงขายก่อนจุด cut loss ของตัวเอง?
- ใช้เงินจนหมดโควต้าของเดือนนี้ แล้วเก็บเงินเพิ่มในเดือนหน้าเป็นจำนวนเท่ากันแทน?
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเรา(หรือคนที่รู้จัก)มักจะมีพฤติกรรมแบบนี้ แม้แต่ผมเองก็ยังมีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์จะตีความว่าเป็น “พฤติกรรมที่ขาดสติ (Misbehave)”
แล้วทำไมถึงเรียกกันว่าพฤติกรรมขาดสติหล่ะ? เพราะว่าพฤติกรรมเหล่านี้“ไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์” ที่เชื่อว่าทุกคนมีความคิดและใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสินใจ(Rational Thinking) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “มนุษย์อีค่อน (homo economicus)” การขาดสติในที่นี่ไม่ได้แปลว่าคุณแปลกประหลาดแต่อย่างใดเพราะในโลกความเป็นจริงทุกคนไม่ได้ทำตัวเป็นมนุษย์อีค่อนอยู่ตลอดเวลา (แม้แต่ผมเองก็ด้วย😁)
แล้วมันไม่เป็นไปตามทฤษฎีอะไร? อย่างไร? เรามาเจาะกันทีละประเด็นเลยครับ
ซื้อหนังสือล่วงหน้า เพื่อให้อ่านเล่มปัจจุบันให้รีบจบ?
มนุษย์อีค่อน: ฉันจะไม่ซื้อหนังสือเพิ่ม จนกว่าฉันจะอ่านเล่มนี้จบ
ฉัน: แต่ฉันจะอ่านจบแล้วนะ!! ของมันต้องมีป่ะ? ไม่ซื้อไม่ได้ละป่ะ?
พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าผิดหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “ต้นทุนจม(Sunk cost) จะต้องไม่มีผลต่อการตัดสินใจในอนาคต” แต่หนังสือที่ซื้อไปแล้ว กลับมีผลทำให้หนังสือที่เรากำลังอ่านอยู่ในตอนนี้อ่านจบได้ไวขึ้น เช่นเดียวกันกับการที่สมัครสมาชิกฟิตเนส เพื่อที่จะให้ตัวเองได้ออกกำลังกายมากขึ้น หรือแม้แต่สมัครเรียนคอร์สออนไลน์แบบเสียตัง เพื่อที่จะให้ตัวเองตั้งใจเรียนจนจบ
กินเลย์ซองใหญ่ที่เหลืออยู่ให้หมดแม้ว่าตัวเองจะอิ่มมากแล้ว?
มนุษย์อีค่อน: ฉันกินแค่นี้แหละ เพราะว่า Utility ของฉันอยู่จุดสูงที่สุดแล้ว ที่เหลือฉันจะเอาไปเก็บเมื่อหนังจบแล้ว
ฉัน: ไหนๆก็หยิบมาละ ขอกินเพิ่มสักชิ้น… สองชิ้น… สามชิ้น…
“ถ้าหากคุณกำลังนั่งดูหนังอยู่ แล้วผมวางขนมไว้ชามหนึ่ง คุณกำลังหิวพอดี คุณจะกินแค่ครึ่งเดียวแล้วเอาขนมไปเก็บตู้เย็นเมื่อหนังจบหรือคุณจะกินจนหมด?” บอกเลยว่าอันหลังนี้ทำยากมาก😁
ถ้าหากคุณเคยเรียนเรื่อง อรรถประโยชน์ในการบริโภคสินค้า(Consumer Utility) ก็จะเข้าใจว่า “อรรถประโยชน์ในการบริโภคจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งแล้วจะมีค่าลดลง (Law of Diminishing Marginal Utility)” หรือแปลว่ายิ่งเราบริโภคสินค้ามากขึ้นเท่าไหร่ ความพึ่งพอใจที่เราจะได้รับจากการบริโภคนั้นก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ลดลง ก็เหมือนกับการกินข้าว ที่ช่วงแรกๆถ้าเรายังหิวอยู่ การกินข้าวของเราจะมีความสุขมาก แต่เมื่ออิ่มแล้ว การกินข้าวเข้าไปอีกก็คงไม่ทำให้เรามีความสุขเหมือนตอนหิวแน่ๆ
แต่เคสดังกล่าวนี้แตกต่างออกไป เพราะเราก็ทราบดีว่าถ้ากินขนมครึ่งซองหลังเราก็จะไม่มีความสุขแน่ๆ แต่เราก็“ทน”กินจนหมด แทนที่จะเอาที่ขนมเหลือไปเก็บในตู้เย็น
คิดว่าการลงทุนในหุ้น/cryptocurrency เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่สามารถซื้อสลากกินแบ่งได้อย่างสบายใจ?
มนุษย์อีค่อน: ฉันคำนวณดูแล้วการลงทุนในสิ่งนี้จะต้องได้ Expected Value = XXX…
ฉัน: YOLO!!
จริงๆแล้วการซื้อสลากกินแบ่งไม่ได้ผิดอะไรนะครับ!!! แต่keywordของประเด็นนี้คือคำว่า“ความเสี่ยง”ครับ เพราะถ้าหากทุกคนเป็นมนุษย์อีค่อนจริงๆ จะต้องเข้าใจในเรื่องของ การสูญเสียและผลตอบแทน (Loss and Return) ที่ว่า“คนเราจะเลือกทางที่เกิดผลตอบแทนสูงสุดและเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด” หรือ“คำนวณจากค่าคาดหวัง (Expected Value) ที่มีค่าสูงที่สุด”
โดยหวยนั้นได้ค่า Expected Value ไปเท่ากับ -30.87 บาท / สลาก
นั้นหมายความว่าการลงทุนในสลากกินแบ่งนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่เกิดความคุ้มค่าในมุมมองทางคณิตศาสตร์เลย แถม Maximum Loss = 100% นั้นคือถูกสลากรับประทานนั้นเอง เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงสุดๆ
แม้คุณจะลงทุนในสินทรัพย์แล้วเตรียมแผน cut loss อย่างดี แต่พอถึงเวลาจริงกลับทนทำตามแผนไม่ได้จึงขายก่อนจุด cut loss ของตัวเอง?
มนุษย์อีค่อน: ฉันจะขายเมื่อติดลบเกิน 10% เพราะฉันวางแผนมาแล้ว
ฉัน: เฮ้ย…แต่มันลงมา 8% แล้วนะ ขายเลยเถอะ 😭
เพราะว่าใจคนบางกว่าระบบ/หุ่นยนต์ยิ่งนัก 😂 นี้เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไปที่มนุษย์อีค่อนไม่มีทางจะเกิดขึ้นเลยคือ พฤติกรรมการกลัวการสูญเสีย(Risk Aversion)
พูดเป็นภาษาบ้านเลยก็คือ “เมื่อเราสูญเสียมากขึ้น ความทุกข์เราจะมีมากขึ้น” ในทางทฤษฎีจะบอกว่าโดยเฉลี่ยแล้วอรรถประโยชน์ของการสูญเสียจะลดลงมากกว่าอรรถประโยชน์ของการได้มาประมาณ 2 เท่า เช่น การทำเงินหาย 1000 บาทนั้นทำให้เกิดความทุกข์มากๆ ถึงแม้ว่าเงินนั้นจะได้มาฟรีๆ
นั้นทำให้เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ในตลาดใดๆก็ตามการ cut loss มักจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะ“เรากลัวที่จะเสียไปมากกว่านี้”แล้ว😢
ใช้เงินจนหมดโควต้าของเดือนนี้ แล้วเก็บเงินเพิ่มในเดือนหน้าเป็นจำนวนเท่ากันแทน?
มนุษย์อีค่อน: ฉันจะใช้เงินและเก็บเงินตามสัดส่วนที่ฉันได้มาอย่างเคร่งครัด
ฉัน: เอาหน่า…ขอยืมเงินเดือนนี้ไปใช้ก่อน เดือนหน้าค่อยเอามาคืนนะ
การที่ทฤษฎีเกี่ยวกับเงินที่ว่า “เงินเป็นสิ่งที่ถ่ายโอนแลกเปลี่ยนกันได้ (Money is fungible)” ซึ่งหมายความว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องสามารถเอาไปใช้ได้อย่างอิสระ แต่ในเคสนี้กลับกลายเป็นว่าเงินที่ได้มาไม่สามารถนำไปใช้ได้ 100% เช่น ได้เงินมา 20,000 บาท หักค่าใช้จ่ายทั้งหมด(รวมทั้งการเก็บออมและลงทุน)แล้วเหลือเงิน 5,000 บาท แต่คุณคงไม่อยากใช้เงินทั้งหมดในการซื้อของเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง คุณอาจจะคิดว่าจะใช้จ่ายแค่ 3,000 บาทแล้วที่เหลือเก็บไว้(บางครั้งก็เก็บโดยไม่มีเหตุผลด้วยซ้ำ) เงิน 2,000 บาทที่เหลือนั้นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมให้นิยามมันว่ามันคือ “การทำบัญชีในใจ (Mental Accounting)” เพราะเป็นสิ่งที่ถูกคำนวณอีกทีหลังจากทำบัญชีการเงินส่วนตัวแล้ว เช่นเดียวกันกับว่าหากคุณเหลือ 5,000 บาท แต่คุณใช้ไป 4,000 ซึ่งเกินไป 1,000 บาท ในเดือนถัดไปคุณจะเก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาทเพื่อมาชดเชยเดือนที่แล้วแทน
ซึ่งการทำบัญชีในใจทำให้มนุษย์เกิดพฤติกรรมแปลกๆขึ้น เช่น มีเงินเก็บเป็นก้อน แต่ก็ยังซื้อของด้วยบัตรเครดิต หรือบางครั้งก็ยังไปกู้เงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อรักษาเงินก้อนของตัวเองไว้ เป็นต้น
สุดท้ายนี้…แล้วเราจะแก้ไขพฤติกรรมขาดสติเหล่านี้ยังไงดีหล่ะ?
วิธีการที่ดีที่สุดเลยก็คือ ไม่ต้องแก้ไข เพราะมันไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดแต่อย่างใด เพราะจุดประสงค์ของเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า“ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เมื่อนำมันมาใช้กับสภาพแวดล้อมจริง” พฤติกรรมขาดสติไม่ใช่อะไรที่ผิด ทุกคนบนโลกไม่ได้มีเหตุผลสุดโต่งในทุกๆเรื่อง แต่เป็นเพียงสิ่งที่ย้ำเตือนเราให้ “ใช้ชีวิตอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น (แม้จะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ตาม)” เท่านั้นเองครับ🙂
สุดท้ายนี้ ถ้าชอบหรือต้องการสอบถามหรือพูดคุยเพิ่มเติม กดไปที่เพจ ดาต้าไส้แห้ง หรือ LinkedIn ข้างล่างเลยจ้า แล้วเรื่องถัดไปจะเป็นเรื่องอะไรก็ขอให้กดติดตามกันไว้ด้วยนะคร้าบ😍